การนำรถเข้า/ออกประเทศ ทางเรือ

การนำยานพาหนะส่วนบุคคลเข้า/ออก ชั่วคราว ทางเรือ
รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือสำราญและกีฬา หรือเรือประมงที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนเป็นการชั่วคราวและจะส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรภายใน 1-2 เดือนแต่ทั้งนี้ไม่เกิน 6 เดือน (ตามวัตถุประสงค์ที่นำเข้ามาเพื่อการท่องเที่ยว) จะได้รับการยกเว้นอากร โดยผู้ที่ประสงค์จะนำยานพาหนะส่วนบุคคลประเภทรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือสำราญและกีฬา หรือเรือประมงเข้ามาพร้อมกับตนเองเป็นการชั่วคราว ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ที่กรมศุลกากรกำหนดไว้ให้ครบถ้วน

  1. เอกสารที่ควรจัดเตรียมในการนำเข้ายานพาหนะส่วนบุคคลชั่วคราว
    1. คำร้องขอปฏิบัติพิธีการนำรถเข้ามาเพื่อการท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราว
    2. ทะเบียนยานพาหนะ
    3. บัตรประจำตัว หรือหนังสือเดินทางของผู้ควบคุมยานพาหนะต้องได้รับการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยว (Tourist Visa : TR) และใบขับขี่นานาชาติ
    4. หนังสือมอบอำนาจ กรณีผู้ควบคุมยานพาหนะมิใช่เจ้าของ
    5. ใบตราส่งสินค้า
    6. หลักฐานการซื้อขาย เช่น Proforma Invoice, Invoice
    7. สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล
    8. สัญญาประกันการส่งกลับ
    9. เอกสารอื่นๆ (ถ้ามี)

  2. ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการนำเข้ายานพาหนะส่วนบุคคลชั่วคราว
    1. ผู้นำเข้ายื่นเอกสารและกรอกรายละเอียดในแบบคำร้องขอปฏิบัติพิธีการนำเข้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นการชั่วคราว ต่อสำนักงานหรือด่านศุลกากรที่นำเข้ากรณีมีสิ่งของอื่นหรือผู้โดยสารและสิ่งของติดตัวผู้โดยสารเข้ามาพร้อมกับยานพาหนะ ผู้นำเข้าต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ด้วย
    2. เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบสิทธิของผู้ร้องขอ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภทที่ 3(ค) โดยพิจารณาหนังสือเดินทางว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้อนุญาตให้ผู้นำเข้าพำนักอาศัยในประเทศไทยได้เป็นระยะเวลาเท่าใด และต้องได้รับการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยว (Tourist : TR) ด้วย หากเอกสารถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะออกใบขนสินค้าพิเศษ และกำหนดวงเงินค้ำประกันสำหรับการนำเข้านั้น ๆ
    3. ผู้นำเข้านำหลักประกัน (เงินสดหรือธนาคารค้ำประกัน ) ไปชำระที่หน่วยบัญชีและอากร (ถ้ามี)

    การประกันและการค้ำประกัน
    1. ผู้นำเข้าสามารถวางเงินประกันด้วยเงินสด หรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารหรือบุคคล แต่กรณีที่ผู้นำเข้าไม่สามารถหาประกันดังกล่าวได้จริง อาจผ่อนผันให้ค้ำประกันตนเองได้
    2. ในกรณีที่ผู้นำเข้าไม่สามารถจะวางประกันด้วยเงินสด หรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารได้จริงๆ อาจขอให้สถานทูตรับรองเพื่อกรมศุลกากรใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติให้ผู้นำเข้าค้าประกันตนเองได้
    3. การกำหนดเงินประกันและเงินค้ำประกัน กรมศุลกากรจะกำหนดโดยถือตามราคาบวกค่าภาษีอากรทุกประเภทของรถที่นำเข้าเป็นยอดเงินประกัน
    4. ผู้นำเข้านำหลักฐานการวางประกัน มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร-เจ้าหน้าที่จะตรวจยานพาหนะและสิ่งติดตัวผู้โดยสาร เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะมอบสำเนา คู่ฉบับใบขนสินค้าพิเศษให้ผู้นำเข้าไว้ 1 ฉบับ เพื่อใช้กำกับยานพาหนะและแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรเมื่อนำยานพาหนะออกไปนอกราชอาณาจักร

  3. ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการส่งออกยานพาหนะส่วนบุคคล
    1. ผู้ส่งออกยื่นสำเนาใบขนสินค้าพิเศษที่กรมศุลกากรออกให้ขณะนำเข้าแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ จุดตรวจปล่อยที่สำนักงานหรือด่านที่ทำการส่งออก
    2. เจ้าหน้าที่จะตรวจยานพาหนะและสิ่งของติดตัวผู้โดยสาร เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะได้ทำการบันทึกการส่งออกเพื่อตัดบัญชีที่ได้ลงทะเบียนไว้ในคอมพิวเตอร์และจะถอนประกันทัณฑ์บนที่ผู้นำเข้าทำไว้กับกรมศุลกากรขณะนำเข้า (กรณีวางค้ำประกันด้วยเงินสดหรือหนังสือธนาคาร)

  4. กรณีผู้นำเข้าไม่นำรถกลับออกไปในระยะเวลาที่กาหนด
    1. หากผู้นำเข้าไม่นำรถกลับออกไปในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาประกันทัณฑ์บน กรมศุลกากรจะบังคับสัญญาทัณฑ์บนเต็มจำนวนที่กำหนดไว้โดยไม่มีการลดหย่อนทั้งสิ้น
    2. การบังคับตามสัญญาประกัน
      1. เมื่อครบกำหนดตามที่ระบุไว้ในสัญญาประกันหรือผู้นำของเข้าได้แสดงความจำนงก่อนครบกำหนดดังกล่าวว่า ไม่ประสงค์จะนำรถกลับออกไป กรมศุลกากรจะบังคับสัญญาประกันเต็มตามจำนวนที่กำหนดไว้โดยไม่มีการลดหย่อนใดๆ ทั้งสิ้น
      2. กรณีที่มีผู้นำรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและจะนำกลับออกไป แต่นำกลับออกไปไม่ทันภายในเวลาที่กำหนดตามที่ระบุไว้ในสัญญาประกันโดยไม่มีเจตนาฝ่าฝืนการปฏิบัติตามสัญญาประกันนั้น ผู้นำเข้าจะต้องถูกบังคับสัญญาประกันทัณฑ์บนวันละ 1,000 บาท นับจากวันที่ครบกำหนดในสัญญาประกันแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
    3. กรณีผู้นำเข้าต้องการขอขยายเวลาการนำรถออกนอกประเทศไทยตามที่ระบุไว้ในสัญญาประกันทัณฑ์บน ก็สามารถขอขยายเวลากับกรมศุลกากรได้อีกโดยมีระยะเวลาในการนำเข้าไม่เกินกว่าที่ได้รับอนุญาตขยายเวลาให้พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทยจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แต่รวมระยะเวลาแล้ว ต้องไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันนำเข้า เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็น เช่น เครื่องยนต์เสีย หรือรถยนต์ถูกชนต้องเสียเวลาในการซ่อม ก็อาจขยายเวลาออกไปให้เกินกว่า 6 เดือนได้ แต่รวมแล้ว ต้องไม่เกิน 8 เดือน นับแต่วันนำเข้า โดยยื่นขอขยายเวลา ณ ด่านศุลกากรหรือสำนักงานศุลกากร

      สำหรับ "เรือสำราญและกีฬา" หมายถึง เรือที่ใช้สำหรับหาความสำราญ หรือเรือที่ใช้เพื่อการเล่นกีฬาโดยเฉพาะ และไม่ได้ใช้เพื่อการค้า การทหาร หรือการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ เรือสาราญและกีฬา หรือเรือประมงที่เข้ามาจากประเทศนั้นนายเรือจะต้องมารายงานเรือเข้าเช่นเดียวกับเรือทั้งหลายที่มาจากต่างประเทศ ส่วนเรือสาราญและกีฬา หรือเรือประมงที่เดินทางไปต่างประเทศ จะต้องยื่นใบสำแดงรายงานเรือออก และขอรับใบปล่อยเรือขาออกจากกรมศุลกากรด้วย
  5. ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
  6. หากมีข้อสอบถามหรือข้อเสนอแนะประการใดโปรดติดต่อ
    ฝ่ายเอกสิทธิและส่งเสริมการลงทุน ส่วนบริการกลาง สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ
    โทร 0-2667-7000 ต่อ 20-5523, 20-7638หรือ 20-5539
 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 8 ตุลาคม 2561 16:42:11

ipv6 ready acheker
ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ของกรมศุลกากร การใช้งานข้อมูลใด ๆ บนเว็บไซต์ ให้ใช้ได้ตามที่เว็บไซต์จัดรูปแบบไว้ให้เท่านั้น
ลิขสิทธิ์ 2015 กรมศุลกากร สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนนวัตกรรมและวิเคราะห์ระบบ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลกากร