การนำเข้าของที่ได้รับบริจาค

การนำเข้าของที่ได้รับบริจาค

ของที่ได้รับบริจาค หมายถึง ของที่นำเข้ามาหรือส่งออกไปเพื่อบริจาคเป็นการสาธารณกุศลแก่ประชาชนโดยผ่านส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล หรือเป็นของที่นำเข้ามาเพื่อให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศลที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ไม่รวมถึง

  1. รถยนต์และยานยนต์ที่ออกแบบสำหรับขนส่งบุคคลไม่เกิน ๙ คน รวมทั้งคนขับ เว้นแต่รถพยาบาล
  2. รถยนต์บรรทุกของชนิดแวนและชนิดปิกอัพและรถยนต์ที่มีลักษณะคล้ายกับรถดังกล่าวที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก (จี.วี.ดับบลิว) ไม่เกิน ๕ ตัน และรถยนต์ดังกล่าวที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก (จี.วี.ดับบลิว) เกิน ๕ ตัน ที่มีเครื่องยนต์ที่มิใช่เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบที่จุดระเบิดด้วยการอัด (ดีเซลหรือกึ่งดีเซล) หรือที่จุดระเบิดด้วยประกายไฟ
หมายเหตุ

คำว่า "ส่วนราชการ" หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐ แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

  1. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นอากรของที่ได้รับบริจาค มีดังนี้

    1. ของที่นำเข้ามาหรือส่งออกไปเพื่อบริจาคเป็นสาธารณกุศลแก่ประชาชนโดยผ่านส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล จะได้รับการยกเว้นอากรต้องเป็นดังนี้

      1. ต้องนำเข้าหรือส่งออกในนามของส่วนราชการ หรือองค์การสาธารณกุศล ที่เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามที่กำหนดใน ข้อ 2 หรือข้อ 3 ของประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาลและสถานศึกษา ตามมาตรา ๔๗ (๗) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา ๓ (๔) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๒๓๙) พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๒๕๔) พ.ศ. ๒๕๓๕ (ดูรายละเอียดได้ที่ www.rd.go.th/publish/2644.0.html)
      2. มีหลักฐานของผู้บริจาคเป็นลายลักษณ์อักษรแสดงความจำนงมอบให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศลนั้น เพื่อนำของดังกล่าวไปบริจาคแก่ประชาชนต่อไป โดยไม่มีเงื่อนไขและข้อผูกพันใด ๆ ทั้งนี้ ผู้บริจาคต้องแสดงความจำนงในหลักฐานดังกล่าวไว้ก่อนวันที่นำของเข้ามาหรือส่งออกไป
      3. ถ้าบริจาคผ่านส่วนราชการ ส่วนราชการนั้น ต้องมีหน้าที่ในการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือหรือบรรเทาทุกข์แก่ประชาชน ถ้าบริจาคผ่านองค์การสาธารณกุศล องค์การสาธารณกุศลนั้น ต้องนำไปช่วยเหลือหรือบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนตามที่ระบุไว้ในวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การสาธารณกุศล

        ในกรณีที่มีสาธารณภัย เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจยกเว้นหรือผ่อนผันหลักเกณฑ์และเงื่อนไขได้ตามที่เห็นสมควร

    2. ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศลจะได้รับยกเว้นอากรต้องเป็นดังนี้

      1. ต้องนำเข้าหรือส่งออกในนามของส่วนราชการ หรือองค์การสาธารณกุศล ที่เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามที่กำหนดใน ข้อ 2 หรือข้อ 3 ของประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาลและสถานศึกษา ตามมาตรา ๔๗ (๗) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา ๓ (๔) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๒๓๙) พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๒๕๔) พ.ศ. ๒๕๓๕ (ดูรายละเอียดได้ที่ www.rd.go.th/publish/2644.0.html)
      2. มีหลักฐานของผู้บริจาคเป็นลายลักษณ์อักษรแสดงความจำนงมอบให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศลนั้น โดยไม่มีเงื่อนไขและข้อผูกพันใด ๆ ทั้งนี้ ผู้บริจาคต้องแสดงความจำนงในหลักฐานดังกล่าวไว้ก่อนวันที่นำของเข้ามาหรือส่งออกไป
      3. เป็นของที่นำไปใช้ตามหน้าที่ส่วนราชการ หรือนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งขององค์การสาธารณกุศล
    3. ของตามข้อ (1.1) หรือข้อ (1.2) ต้องไม่เป็นของที่จัดซื้อโดยใช้เงินของส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล หรือเงินที่มีผู้มอบให้
  2. ระเบียบปฏิบัติสำหรับการยกเว้นอากรของตามประเภท 11 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ดังต่อไปนี้

    1. การขอยกเว้นอากร ให้ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล เป็นผู้ยื่นขอยกเว้นอากรต่อกรมศุลกากร ก่อนนำของออกจากอารักขาของศุลกากร

      1. กรณีส่วนราชการเป็นผู้ขอยกเว้นอากร กำหนดให้ผู้ยื่นขอยกเว้นอากรและผู้ลงนามในหนังสือขอยกเว้นอากร เป็นดังนี้

        1. ราชการส่วนกลาง ผู้ยื่นขอยกเว้นอากรต้องเป็นส่วนราชการตั้งแต่ระดับกรมหรือเทียบเท่าขึ้นไป และผู้ลงนามในหนังสือขอยกเว้นอากรต้องเป็นหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับกรมหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
        2. ราชการส่วนภูมิภาค ผู้ยื่นขอยกเว้นอากรต้องเป็นส่วนราชการระดับจังหวัด และผู้ลงนามในหนังสือขอยกเว้นอากรต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
        3. ราชการส่วนท้องถิ่น

          1. กรณีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ยื่นขอยกเว้นอากรต้องเป็นส่วนราชการระดับจังหวัด และผู้ลงนามในหนังสือขอยกเว้นอากร ต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
          2. กรณีกรุงเทพมหานคร ผู้ยื่นขอยกเว้นอากรต้องเป็นสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร และผู้ลงนามในหนังสือขอยกเว้นอากรต้องเป็นปลัดกรุงเทพมหานครหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
          3. กรณีเมืองพัทยา ผู้ยื่นขอยกเว้นอากรต้องเป็นสำนักปลัดเมืองพัทยา และผู้ลงนามในหนังสือขอยกเว้นอากรต้องเป็นปลัดเมืองพัทยาหรือที่ระดับสูงกว่าขึ้นไปหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
        4. หน่วยงานอื่นของรัฐ

          1. กรณีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ให้มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้นเป็นผู้ยื่นขอยกเว้นอากร และผู้ลงนามในหนังสือขอยกเว้นอากรต้องเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
          2. กรณีหน่วยงานอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เช่น องค์การมหาชน องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ให้หน่วยงานของรัฐนั้นเป็นผู้ยื่นขอยกเว้นอากร และผู้ลงนามในหนังสือขอยกเว้นอากรต้องเป็นข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

            1. ผู้บังคับบัญชาสูงสุด หรือผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานของรัฐหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
            2. หัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับกรม หรือเทียบเท่าขึ้นไปที่กำกับดูแล รักษาการ หน่วยงานของรัฐหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
      2. กรณีองค์การสาธารณกุศลเป็นผู้ขอยกเว้นอากร กำหนดให้ผู้ยื่นขอยกเว้นอากรต้องเป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามที่กำหนดใน ข้อ 2 หรือข้อ 3 ของประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาลและสถานศึกษา ตามมาตรา ๔๗ (๗) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา ๓ (๔) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๒๓๙) พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๒๕๔) พ.ศ. ๒๕๓๕โดยผู้ลงนามในหนังสือขอยกเว้นอากร ต้องเป็นผู้มีอำนาจลงนามตามตราสารการจัดตั้งองค์การหรือสถานสาธารณกุศลนั้น
    2. ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศลดังกล่าว ต้องยื่นหนังสือขอยกเว้นอากร พร้อมเอกสารและหลักฐานประกอบการขอยกเว้นอากร ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

      1. หนังสือขอยกเว้นอากร อย่างน้อยต้องแสดงรายละเอียด ดังต่อไปนี้

        1. ชื่อหน่วยงาน ที่ขอยกเว้นอากร
        2. บุคคล หรือ หน่วยงาน ที่เป็นผู้บริจาคหรือมอบให้
        3. วัตถุประสงค์ในการนำของไปใช้ประโยชน์
        4. ท่า ที่ หรือ สนามบิน ที่ใช้สำหรับการนำของเข้า
        5. ประมาณการช่วงเวลาที่นำของเข้า
        6. ชื่อของ รายละเอียดของ จำนวนของ มูลค่าและสกุลเงินของของ
        7. ลายมือชื่อ ชื่อ-นามสกุล และ ตำแหน่ง ของผู้ลงนามตามที่กำหนดในข้อ 2.1
      2. เอกสารและหลักฐานที่ให้ยื่นประกอบการขอยกเว้นอากร ดังต่อไปนี้

        1. หลักฐานแสดงความจำนงบริจาคหรือมอบให้ เป็นลายลักษณ์อักษรที่เป็นต้นฉบับ ซึ่งแสดงว่าเป็นการบริจาคหรือการให้โดยไม่มีเงื่อนไขและข้อผูกพันใด ๆ พร้อมคำแปลเป็นภาษาไทย
        2. หนังสือตอบรับการบริจาคหรือการให้
        3. เอกสารสำแดงมูลค่าของของ เช่น Invoice หรือ Proforma Invoice เป็นต้น
        4. เอกสารใบตราส่งสินค้า ในกรณีที่มี เช่น Bill of Lading หรือ Air Waybill เป็นต้น
        5. เอกสารอื่น ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณายกเว้นอากร ในกรณีที่มี เช่น ภาพถ่ายของของ คุณลักษณะเฉพาะของของ ตราสารมอบอำนาจหรือมอบหมายให้ลงนาม เป็นต้น
        6. ตราสารการจัดตั้งองค์การหรือสถานสาธารณกุศล และที่แก้ไขเปลี่ยนแปลง (เฉพาะกรณีผู้ยื่นขอยกเว้นอากรเป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล)

        กรณีเอกสารหรือหลักฐานเป็นสำเนาจะต้องลงลายมือชื่อ ชื่อ-นามสกุล ตำแหน่ง เพื่อรับรองสำเนาด้วย

    3. ในกรณีที่ข้อมูลหรือเอกสารและหลักฐาน มีรายละเอียดไม่เพียงพอที่จะพิจารณาให้ของได้รับยกเว้นอากร ให้มีหนังสือแจ้งแก่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล เพื่อสอบถามหรือขอข้อมูลเพิ่มเติม โดยให้ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศลมีหนังสือเพื่อยืนยันหรือชี้แจงข้อมูล พร้อมยื่นเอกสารและหลักฐานเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด
    4. เมื่อกรมศุลกากรอนุมัติให้ของได้รับยกเว้นอากร และมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ยกเว้นอากรของบริจาคตามประเภท 11 ภาค 4 แล้ว ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศลนั้น จะต้องนำเอกสารการอนุมัติยกเว้นและเอกสารประกอบการยื่นใบขนสินค้าขาเข้าไปติดต่อสำนักงานหรือด่านศุลกากรที่นำของเข้าเพื่อปฏิบัติพิธีการเพื่อนำของออกจากอารักขาของศุลกากรต่อไป

      กรณีที่มีการร้องขอ และอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย เห็นว่าของใดมีความจำเป็นต้องนำออกไปจากอารักขาของศุลกากรโดยรีบด่วน ก็ให้วางเงินสดหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคาร หรือหนังสือของส่วนราชการ เพื่อเป็นประกันค่าภาษีอากร พร้อมแนบสำเนาหนังสือขอยกเว้นอากร

      ทั้งนี้ ก่อนนำของออกจากอารักขาของศุลกากร ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล ต้องปฏิบัติตามกฎหมายศุลกากร และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ซึ่งหน่วยงานอื่นกำหนดไว้ให้ครบถ้วน

  3. ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับการนำเข้าของที่ได้รับบริจาค

    1. ผู้นำของเข้ายื่นหนังสือขอปฏิบัติพิธีการของที่ได้รับบริจาคและหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ยกเว้นอากรของบริจาคตามประเภท 11 ภาค 4 ที่กรมศุลกากรได้อนุมัติยกเว้นอากรแล้วพร้อมเอกสารประกอบการยื่นใบขนสินค้าขาเข้าที่สำนักงานศุลกากร/ด่านศุลกากรที่นำของเข้าพร้อมเอกสารประกอบ
    2. ผู้นำของเข้าหรือตัวแทน จัดทำและส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าและนำใบขนสินค้าขาเข้าไปปฏิบัติพิธีการ เพื่อขอรับของออกจากอารักขาศุลกากร
  4. ของบริจาคที่เป็นของต้องกำกัด

    1. ของบริจาคใด ๆ ที่มีกฎหมายกำหนดว่าหากจะมีการนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำผ่านราชอาณาจักร จะต้องขออนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนก่อนการนำเข้าจากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
    2. การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ ต้องยื่นขออนุญาตนำเข้าจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนการนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยยื่นคำขอนำเข้า ณ ด่านอาหารและยา ที่จะนำของเข้า
  5. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หากมีข้อสอบถามหรือข้อเสนอแนะประการใดโปรดติดต่อ

    • ฝ่ายมาตรฐานพิกัดอัตราศุลกากรที่ 3.2 ส่วนมาตรฐานพิกัดอัตราศุลกากร 3 กองพิกัดอัตราศุลกากร โทร. 02-667-6411, 02-667-7205, 02-667-6419
    • ฝ่ายเอกสิทธิ์และส่งเสริมการลงทุน ส่วนบริการกลาง สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ โทร. 0-2667-7000 ต่อ 20-5523, 20-7638 หรือ 20-5539
    • ฝ่ายเอกสิทธิ์และส่งเสริมการลงทุน ส่วนบริการกลาง สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โทร. 0-2667-7000 ต่อ 25-3216 หรือ 0-2134-1252
 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 14 กรกฎาคม 2564 14:50:06
จำนวนผู้เข้าชม : 118,647
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สผภ.)
อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 10540
หมายเลขโทรศัพท์ : 02-134-0400
อีเมล์ : 67000000@customs.go.th

ipv6 ready acheker
ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ของกรมศุลกากร การใช้งานข้อมูลใด ๆ บนเว็บไซต์ ให้ใช้ได้ตามที่เว็บไซต์จัดรูปแบบไว้ให้เท่านั้น
ลิขสิทธิ์ 2015 กรมศุลกากร สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนนวัตกรรมและวิเคราะห์ระบบ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลกากร