สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร

คลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับเก็บน้ำมัน

คลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับเก็บน้ำมัน

คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับเก็บน้ำมัน
1. เป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการ หากเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในประเทศไทย จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1.1 มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่าหกสิบล้านบาท มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบของทุนจดทะเบียน และไม่มีข้อจำกัดในการออกเสียงลงมติของผู้ถือหุ้น
1.2 มีฐานะการเงินที่มั่นคง โดยผลการดำเนินงานตามที่ปรากฏในงบการเงินไม่มียอดขาดทุนสะสม
2. มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง หรือมีสิทธิในการใช้พื้นที่ที่ขอจัดตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือในกรณีที่ดินที่ขอจัดตั้งมีการจดทะเบียนจำนอง ผู้รับจำนองจะต้องมีหนังสือยินยอมให้ดำเนินการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับเก็บน้ำมันได้
3. ไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรย้อนหลัง 3 ปีนับแต่วันที่ยื่นคำขอ ทั้งนี้ การกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามกฎหมายให้หมายความถึง การกระทำความผิดใด ๆ ก็ตามที่กฎหมายได้บัญญัติให้ต้องรับโทษจำคุกรวมอยู่ด้วย
4. ไม่อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตประเภทที่ได้ยื่นขออนุญาต
5. ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประเภทที่ได้ยื่นขออนุญาต เว้นแต่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตมาแล้วก่อนวันยื่นคำขอรับอนุญาตเกิน 3 ปี และกรณีผู้ยื่นคำขอเป็นนิติบุคคล ผู้บริหารของนิติบุคคลต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวด้วย

เงื่อนไขการอนุญาตที่ผู้ขอใบอนุญาตต้องดำเนินการ
1. สถานที่ที่ขอจัดตั้งจะต้องได้รับใบอนุญาตใช้สถานที่สำหรับเก็บน้ำมันตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 หรือใบอนุญาตอื่นตามกฎหมายดังกล่าว และต้องอยู่ในบริเวณที่กรมศุลกากรเห็นว่าเหมาะสม ซึ่งพนักงานศุลกากรสามารถควบคุมได้สะดวกและรัดกุม
2. ต้องดำเนินการก่อสร้างตามแบบแปลนแผนผังที่ได้ยื่นประกอบคำขอ ซึ่งกรมศุลกากรเห็นชอบ โดยมีมาตรการรักษาความปลอดภัย มีรั้วล้อมรอบ ประตูเข้า - ออกที่มั่นคงแข็งแรง มีห้องทำงานสำหรับพนักงานศุลกากรซึ่งภายในห้องทำงานต้องจัดให้มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีระบบสื่อสารเชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร และจัดทำป้ายคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับเก็บน้ำมันตามแบบที่กำหนด
3. ภายในพื้นที่ต้องมีถังสำหรับเก็บน้ำมันปริมาตรความจุถังรวมกันไม่น้อยกว่าสองหมื่นลูกบาศก์เมตร (ยี่สิบล้านลิตร) สภาพของถังต้องมีความมั่นคงแข็งแรง ผ่านการรับรองและอนุญาตจากกรมธุรกิจพลังงานมีท่อทางรับ – จ่ายที่สามารถควบคุมปริมาณน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพและรัดกุม โดยต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของตารางคำนวณปริมาตรความจุประจำถังจากกรมศุลกากร เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณปริมาณและน้ำหนักสำหรับน้ำมันที่นำเข้าเก็บและส่งออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับเก็บน้ำมัน และมีระบบการแสดงข้อมูลการรับ – จ่าย ยอดคงเหลือของน้ำมันให้พนักงานศุลกากรกำกับคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับเก็บน้ำมันตรวจสอบได้
4. กรณีจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับเก็บน้ำมันที่มีท่าเรือรับอนุญาตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งท่าเรือรับอนุญาตและต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
4.1 หนังสืออนุญาตหรือใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่า หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายให้เป็นผู้จัดตั้งทำเนียบท่าเรือสาธารณะ
4.2 หนังสืออนุญาตหรือใบอนุญาตให้ประกอบกิจการท่าเรือเดินทะเลจากกรมเจ้าท่าหรือผู้มีอำนาจตามกฎหมาย
4.3 เอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)
5. มีระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ที่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์บุคคล หมายเลขทะเบียนยานพาหนะ หรือของที่ผ่านเข้า - ออก และสามารถตรวจสอบข้อมูลภาพย้อนหลังได้ไม่น้อยกว่า 60 วัน ติดตั้งมิเตอร์ที่ท่อทางรับ – จ่ายที่ท่าเทียบเรือ พร้อมจัดหาเครื่องคำนวณ เครื่องชั่ง ตวง วัด ที่ได้มาตรฐาน เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์เพื่อแสดงและบันทึกข้อมูลรับ – จ่ายและคงเหลือของน้ำมัน ข้อมูลอื่นที่จำเป็นของคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับเก็บน้ำมัน และข้อมูลเกี่ยวกับเรือหรือยานพาหนะ และการกำหนดเวลาเข้า – ออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับเก็บน้ำมัน รวมถึงอุปกรณ์ที่ทันสมัยอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคลังสินค้าทัณฑ์บน ให้มีความรอบคอบรัดกุมตามความจำเป็นที่กรมศุลกากรกำหนด 
6. หลักฐานการควบคุมและทะเบียนบัญชี ให้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีระบบควบคุมสินค้าคงคลัง(e- Inventory Control System) ควบคุมจำนวนน้ำมัน ที่พนักงานศุลกากรสามารถตรวจสอบการนำของเข้าเก็บ การนำของออก และของคงเหลือ โดยสามารถจัดทำรายงานทางบัญชีตามที่กรมศุลกากรกำหนด และพร้อมให้พนักงานศุลกากรสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา

ระยะเวลาในการเก็บน้ำมันในคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับเก็บน้ำมัน
การเก็บน้ำมันในคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับเก็บน้ำมัน สามารถเก็บได้ไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันนำเข้า 

การตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร
1.การจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงาน
กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนด ทุกสิ้นงวด 6 เดือน (มิถุนายน และ ธันวาคม) ยื่นต่อส่วนตรวจสอบคลังสินค้าทัณฑ์บน กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ภายใน 15 วันนับแต่วันปิดงวดบัญชี โดยให้ถือวันที่พนักงานศุลกากรเข้าทำการตรวจนับของคงเหลือเป็นวันปิดงวดบัญชี 
2.การจัดส่งงบการเงิน
กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดส่งสำเนางบการเงินตามข้อกำหนดของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับรองแล้วต่อส่วนตรวจสอบคลังสินค้าทัณฑ์บน กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ภายใน 15 วันนับแต่วันปิดงวดบัญชี โดยให้ถือวันที่พนักงานศุลกากรเข้าทำการตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรเป็นวันปิดงวดบัญชี 
3.การตรวจนับของคงเหลือ
กำหนดให้ตรวจนับของคงเหลือในคลังสินค้าทัณฑ์บน ปีละ 2 ครั้ง ภายในวันที่ 25 ของเดือนสิ้นงวดบัญชี (มิถุนายน และ ธันวาคม) ถึงวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

การทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน และการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน
เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตพร้อมที่จะเปิดดำเนินการคลังสินค้าทัณฑ์บน ต้องทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน เพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่กรมศุลกากร และเพื่อผูกพันให้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กรมศุลกากรกำหนดขึ้น พร้อมทั้งวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนด จำนวนเงินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของค่าอากร ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ไม่เกินห้าล้านบาท ซึ่งคำนวณจากปริมาตรความจุรวมของถังแต่ละใบ เพื่อค้ำประกันความรับผิดในค่าภาษีอากร ค่าภาระติดพัน ค่าเสียหายอื่นใดตามสัญญาประกันและทัณฑ์บน 

ค่าธรรมเนียม
ค่าธรรมเนียมรายปีการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน จำนวน 30,000 บาท (สามหมื่นบาท)

 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 25 ตุลาคม 2564 14:27:26
จำนวนผู้เข้าชม : 24,393
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ส่วนหลักเกณฑ์และทะเบียนสิทธิประโยชน์ กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร (สลท. กสอ.)
กรมศุลกากร เลขที่ 1 ถ.สุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110
หมายเลขโทรศัพท์ : 0-2667-7047
อีเมล์ : 82000100@customs.go.th

ipv6 ready acheker
ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ของกรมศุลกากร การใช้งานข้อมูลใด ๆ บนเว็บไซต์ ให้ใช้ได้ตามที่เว็บไซต์จัดรูปแบบไว้ให้เท่านั้น
ลิขสิทธิ์ 2015 กรมศุลกากร สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนนวัตกรรมและวิเคราะห์ระบบ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลกากร