การนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวผ่านด่านพรมแดนทางบก

การนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวผ่านด่านพรมแดนทางบก

การพิจารณาออกใบอนุญาต (หรือยกเว้นใบอนุญาต) นำรถเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตลอดจนเงื่อนไขในการอนุญาต เช่น เอกสารประกอบการพิจารณา ประเภทรถที่จะอนุญาต หรือเส้นทางในการใช้รถเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด

1.      หลักการ

          ผู้เดินทางหรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร โดยยานพาหนะที่จดทะเบียนต่างประเทศผ่านด่านพรมแดนทางบก สามารถปฏิบัติพิธีการศุลกากรโดยการจัดทำใบขนสินค้าพิเศษเพื่อนำยานพาหนะดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ณ ที่ทำการของเจ้าหน้าที่ศุลกากรบริเวณด่านพรมแดนทางบก และจะต้องนำยานพาหนะนั้นกลับออกไปภายในระยะเวลาที่กำหนด*

2.      เอกสาร/หลักฐานประกอบการจัดทำใบขนสินค้าพิเศษ

2.1 เอกสารทะเบียนรถหรือเอกสารอื่นที่น่าเชื่อถือ และในกรณีผู้เดินทางมิได้เป็นเจ้าของรถ จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของรถที่แสดงเจตนาอนุญาตให้ผู้เดินทางนำยานพาหนะนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

2.2 หนังสือเดินทาง (Passport) ของผู้เดินทางที่ประสงค์จะนำยานพาหนะเข้ามาในราชอาณาจักรที่ผ่านการประทับตราตรวจคนเข้าเมืองแล้ว (กรณีผู้เดินทางมีสัญชาติไทยให้ยื่นเอกสารหลักฐานรับรองถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ หรือการประกอบอาชีพในต่างประเทศ หรือการสมรสกับคู่สมรสต่างประเทศ หรือการศึกษาอยู่ในต่างประเทศ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาด้วย)

2.3  หนังสืออนุญาตนำรถเข้ามาใช้ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวซึ่งออกโดยกรมการขนส่งทางบก**

ยกเว้น 

        2.3.1 รถของประเทศที่มีความตกลงด้านการขนส่งทางถนน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และ สปป. ลาว

      2.3.2 รถประจำถิ่น คือ รถของประเทศที่ไม่มีความตกลงด้านการขนส่งทางถนน อันได้แก่ กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งได้นำรถเข้าออกทางจุดผ่านแดนทางบกเพื่อกิจธุระเป็นประจำ เช่น ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค การรักษาพยาบาล การศึกษา เป็นต้น

        2.3.3 รถที่นำเข้ามาตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศนั้น

3.    ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการ

3.1 ผู้เดินทางนำยานพาหนะที่ประสงค์จะนำเข้าชั่วคราวพร้อมเอกสารตามข้อ 2. มาติดต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ด่านพรมแดนทางบก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ

3.2 เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ตรวจสอบแล้ว หากเห็นว่าครบถ้วนถูกต้องจะทำการบันทึกข้อมูลและออกใบขนสินค้าพิเศษสำหรับยานพาหนะที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว แล้วมอบให้ผู้เดินทางเก็บไว้เป็นหลักฐาน

3.3 ผู้เดินทางจะต้องนำยานพาหนะที่ได้นำเข้ามานั้น กลับออกไปภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยเมื่อผู้เดินทางเดินทางมายังด่านพรมแดนทางบก (ไม่ว่าจะเป็นด่านพรมแดนเดียวกับที่ได้นำยานพาหนะเข้ามาหรือไม่ก็ตาม) จะต้องนำยานพาหนะพร้อมใบขนสินค้าพิเศษที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้มอบไว้ให้ในข้อ 3.2 มอบแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรเพื่อตรวจสอบ

3.4 เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบแล้ว หากพบว่ายานพาหนะที่จะนำกลับออกไปนั้นถูกต้องตรงกับรายละเอียดในใบขนสินค้าพิเศษที่ได้จัดทำไว้ในข้อ 3.2 และไม่เกินระยะเวลาที่กำหนด ก็จะอนุญาตให้ยานพาหนะนั้นผ่านด่านพรมแดนเพื่อกลับออกไปนอกราชอาณาจักร แต่หากพบว่าการนำเข้ามาเกินระยะเวลาที่กำหนด จะทำการเปรียบเทียบปรับวันละ 1,000 บาท นับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดแต่รวมแล้วไม่เกิน 10,000 บาท

กรณีที่พบว่ายานพานะที่จะนำกลับออกไปไม่ถูกต้องตรงตามใบขนสินค้าพิเศษที่ได้จัดทำไว้หรือผู้เดินทางมีเจตนาที่จะไม่นำยานพาหนะกลับออกไป กรมศุลกากรจะดำเนินการสืบสวนและติดตามตัวผู้เดินทางมาดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

 

หมายเหตุ

*ระยะเวลาที่กำหนด ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขระยะเวลาที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะพิจารณาอนุญาตให้ผู้เดินทางที่ถือหนังสือเดินทางสัญชาติใดสามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลาเท่าใด

**หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาตเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.dlt.go.th/



 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 20 มีนาคม 2563 10:42:40

ipv6 ready acheker
ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ของกรมศุลกากร การใช้งานข้อมูลใด ๆ บนเว็บไซต์ ให้ใช้ได้ตามที่เว็บไซต์จัดรูปแบบไว้ให้เท่านั้น
ลิขสิทธิ์ 2015 กรมศุลกากร สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนนวัตกรรมและวิเคราะห์ระบบ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลกากร