การอุทธรณ์การประเมินอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560

การอุทธรณ์การประเมินอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560

 

1. การอุทธรณ์การประเมินอากรคืออะไร?

การอุทธรณ์การประเมินอากรเป็นกระบวนการของกรมศุลกากรที่เปิดโอกาสให้กับผู้ที่ถูกประเมินอากรเพิ่มในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับราคาศุลกากร พิกัดอัตราศุลกากร ถิ่นกำเนิดสินค้า และการประเมินอากรด้านอื่น ๆ สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรของพนักงานศุลกากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560

2. ใครเป็นผู้มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากร?

ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกตามความหมายของกฎหมายศุลกากร ที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินอากร (แบบ กศก.114 หรือ แบบ กศก.115) ทั้งนี้ผู้อุทธรณ์ต้องยื่นคำอุทธรณ์ฯ ด้วยตนเอง

กรณีผู้อุทธรณ์เป็นนิติบุคคลผู้ลงนามในคำอุทธรณ์ต้องเป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลและต้องประทับตราสำคัญของนิติบุคคล(ถ้ามี)ตามหนังสือรับรองนิติบุคคลที่ได้
จดทะเบียน ไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

หากไม่สามารถลงนาม หรือยื่นคำอุทธรณ์ด้วยตัวเองได้ สามารถทำหนังสือมอบอำนาจพร้อมปิดอากรแสตมป์ให้ผู้อื่นยื่นแทนตนได้ แต่จะยื่นอุทธรณ์ทางไปรษณีย์ โทรเลข จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการทำนองเดียวกันนี้มิได้

3. การอุทธรณ์การประเมินอากรจะต้องทำอย่างไร?

ผู้อุทธรณ์จะต้องยื่นคำอุทธรณ์เป็นหนังสือโดยใช้แบบคำอุทธรณ์ตามที่อธิบดีกำหนด (แบบ กศก.171 ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 189/2560 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2560) โดยระบุให้ชัดแจ้งว่าอุทธรณ์การประเมินอากร ตามแบบแจ้งการประเมิน (แบบ กศก.114 หรือ แบบ กศก.115) ฉบับใด ใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่เท่าใด เป็นจำนวนเงินอากรเท่าใด และสิ่งสำคัญที่ต้องระบุคือ เหตุผลของการอุทธรณ์ ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย กล่าวคือ ต้องแสดงให้ทราบได้ว่าไม่เห็นด้วยกับการประเมินในประเด็นใด พร้อมทั้งให้เหตุผลในทุกประเด็น และแสดงเอกสารหลักฐานประกอบเหตุผลนั้นด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อาจพิจารณาไม่รับคำอุทธรณ์ฯ และ/หรืออาจวินิจฉัยยกอุทธรณ์ในกรณีที่ยื่นคำอุทธรณ์ฯ ไว้โดยไม่มีเหตุผลประกอบได้

4. การยื่นอุทธรณ์มีกำหนดเวลาหรือไม่ อย่างไร?

ผู้จะใช้สิทธิอุทธรณ์จะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินอากร โดยใช้หลักฐานแบบตอบรับทางไปรษณีย์
เป็นเกณฑ์ในการนับเวลา หากไม่ยื่นอุทธรณ์การประเมินอากรภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าสิ้นสิทธิในการอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สามารถไม่รับอุทธรณ์ไว้วินิจฉัยได้ อย่างไรก็ตาม หากวันสุดท้ายของกำหนดเวลาเป็นวันหยุดราชการ ให้ถือว่าระยะเวลานั้นสิ้นสุดในวันทำงานที่ถัดจากวันหยุดนั้น

5. แบบคำอุทธรณ์ที่อธิบดีกำหนด ได้แก่แบบใดบ้าง?

แบบ กศก. 171 ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 189/2560 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2560 โดยให้ยื่นต้นฉบับ 1 ชุด พร้อมสำเนา 1 ชุด ต่อ 1 แบบแจ้งการประเมินอากร หากต้องการยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในคราวเดียวกันด้วย ให้ยื่นสำเนาเพิ่มอีก 1 ชุด

6. ยื่นอุทธรณ์ได้ที่ไหน?

สำหรับกรุงเทพมหานคร

1) การอุทธรณ์การประเมินอากรเกี่ยวกับด้านพิกัดอัตราศุลกากร ถิ่นกำเนิดสินค้า (Rule of origin)

ยื่นอุทธรณ์ ณ ส่วนอุทธรณ์พิกัดอัตราศุลกากร สำนักพิกัดอัตราศุลกากร ชั้นที่ 4 อาคาร 120 ปี กรมศุลกากร โทร. 0-2667-7448

2) การอุทธรณ์การประเมินอากรเกี่ยวกับราคาศุลกากร และกรณีอื่น ๆ

ยื่นอุทธรณ์ ณ ส่วนอุทธรณ์ราคาศุลกากร ชั้นที่ 13 อาคาร 120 ปี กรมศุลกากร โทร 0-2667-6521

สำหรับจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพฯ

    ผู้อุทธรณ์สามารถยื่นอุทธรณ์ที่ด่านศุลกากรหรือสำนักงานศุลกากรภาคที่นำของเข้าหรือส่งของออกแทนได้

หมายเหตุ: (1) กรณีผู้นำของเข้า/ผู้ส่งของออกประสงค์จะอุทธรณ์การประเมินอากรศุลกากรภาษีมูลค่าเพิ่มในคราวเดียวกัน สามารถยื่นแบบคำอุทธรณ์ (กศก.171) ได้ที่กรมศุลกากรและสถานที่ดังกล่าวข้างต้น โดยจัดทำสำเนาคำอุทธรณ์เพิ่มอีก 1 ชุด ซึ่งกรมศุลกากรจะดำเนินการจัดส่งไปยังกรมสรรพากรต่อไป หรือจะยื่นคำอุทธรณ์ตามแบบ ภ.ส.6 ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กรมสรรพากรโดยตรงที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือสำนักงานสรรพากรภาค หรือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ (แล้วแต่กรณี) ก็ได้

(2) กรณีการยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีสรรพสามิต ให้ยื่นอุทธรณ์ ณ สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ หรือสำนักงานสรรพสามิตภาคแห่งท้องที่ที่สำนักงานของพนักงานเจ้าหน้าที่
ผู้ประเมินภาษีตั้งอยู่ หรือยื่น ณ สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่หรือสำนักงานสรรพสามิตภาคแห่งท้องที่อันเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการของผู้อุทธรณ์ หรือยื่น 
ณ สำนักกฎหมาย กรมสรรพสามิต ทั้งนี้ ตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอุทธรณ์การประเมินภาษี พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 16 กันยายน 2560

             7. เอกสารประกอบการยื่นคำอุทธรณ์ฯ มีอะไรบ้าง?

1) สำเนาแบบแจ้งการประเมิน (แบบ กศก.114 หรือ แบบ กศก.115)

2) สำเนาใบขนสินค้า พร้อมบัญชีราคาสินค้า (Invoice)

3) สำเนาเอกสารอื่น ๆ (ถ้ามี) เช่น สัญญาซื้อขาย บัญชีราคาสินค้าล่วงหน้า (Proforma Invoice, Price List หรือ Catalogue เป็นต้น  

4) กรณียื่นอุทธรณ์ด้วยตัวเองบัตรประจำตัวประชาชนของผู้อุทธรณ์ กรณีผู้อุทธรณ์เป็นนิติบุคคล 
ผู้ลงนามในคำอุทธรณ์จะต้องเป็นผู้
มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลและต้องประทับตราสำคัญของนิติบุคคล(ถ้ามี) ตามหนังสือรับรองนิติบุคคลที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

5) กรณีมิได้มายื่นอุทธรณ์ด้วยตนเอง:

5.1) หนังสือมอบอำนาจให้ถูกต้องและปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วน (10 บาท ถ้ามอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียว หรือ 30 บาท ถ้ามอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าหนึ่งครั้ง)

กรณีผู้มอบอำนาจที่เป็นนิติบุคคล จะต้องเป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลตามหนังสือรับรองที่ได้จดทะเบียนไว้กับหุ้นส่วนจากสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดหรือ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า กรุงเทพมหานคร

5.2) บัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบอำนาจ (หรือสำเนาที่มีการลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง) กรณีเป็นบุคคลต่างด้าวให้ใช้สำเนาหนังสือเดินทาง (Passport) ที่มีการลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง

5.3) บัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ (หรือสำเนาที่มีการลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง)

5.4) หนังสือรับรองนิติบุคคลที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน (กรณีผู้อุทธรณ์เป็นนิติบุคคล)
     ถ้าเอกสารที่นำมายื่นนั้นเป็นภาษาต่างประเทศให้ผู้อุทธรณ์จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยที่มีการรับรองความถูกต้องและยื่นพร้อมกับเอกสารที่เป็นภาษาต่างประเทศนั้นด้วย
       ทั้งนี้ เอกสารประกอบที่ใช้แนบคำอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากร กำหนด              

     8. หากยื่นเอกสารประกอบคำอุทธรณ์การประเมินอากรไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วน จะต้องทำอย่างไร?

             กรณีผู้อุทธรณ์ยื่นเอกสาร/หลักฐานไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ผู้อุทธรณ์จะต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติมภายใน 30 วัน นับแต่วันลงลายมือชื่อรับรองไว้ต่อพนักงานศุลกากร

9. กำหนดระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ 

ให้พิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พนักงานศุลกากรได้รับอุทธรณ์ และมีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการอุทธรณ์นั้นครบถ้วน อย่างไรก็ตามกรณีที่มีเหตุจำเป็น อาจขยายเวลาออกได้แต่ต้องไม่เกิน 90 วัน หากไม่พิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 180 วัน ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีสิทธินำคดีไปฟ้องต่อศาลได้

ในกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำคดีไปฟ้องต่อศาล ให้คณะกรรมการฯ ยกอุทธรณ์นั้น

10. หากไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ควรทำอย่างไร?

ผู้อุทธรณ์ที่ไม่พอใจกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีสิทธิฟ้องเป็นคดีต่อศาลภาษีอากรภายในกำหนด30วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เว้นแต่กรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จำหน่ายอุทธรณ์เนื่องจากผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ตามมาตรา 46

11. หากจะใช้สิทธิอุทธรณ์ ผู้ถูกประเมินอากรมีหน้าที่ต้องเสียอากรตามการประเมิน หรือไม่?

ผู้ถูกประเมินอากรต้องชำระอากรและภาษีอื่นๆ (ถ้ามี) ตามแบบแจ้งการประเมินอากรภายในกำหนดเวลา 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินอากร เนื่องจากการอุทธรณ์
ไม่เป็นเหตุให้ได้รับการทุเลาการเสียอากรแต่อย่างใด

หากผู้ถูกประเมินอากรได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินอากรแล้วประสงค์จะขอทุเลาการชำระเงินอากรระหว่างรอผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ยื่นคำขอทุเลาการเสียอากรต่อหน่วยงานที่ออกแบบแจ้งการประเมินอากร ตามแบบแนบท้ายประกาศกรมศุลกากรที่ 189/2560 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2560 โดยการยื่นคำขอทุเลาการเสียอากรให้ยื่นภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ยื่นอุทธรณ์การประเมินอากร

 

 

นางสาวสุนทรียา ทวิชาประสิทธิ์

ผู้อำนวยการส่วนอุทธรณ์ราคาศุลกากร
สำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร


 

 

 

 

 
 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 11 มีนาคม 2562 15:55:52
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : กองมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร (กมพ.)
กรมศุลกากร เลขที่ 1 ถ.สุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110
อีเมล์ : 81000100@customs.go.th
- ส่วนราคาศุลกากร ที่ 1-3
หมายเลขโทรศัพท์ : 0-2667-6502, 0-2667-7179, 0-2667-7187
- ฝ่ายทะเบียนผู้นำเข้าและส่งออก
หมายเลขโทรศัพท์ : 0-2667-6488, 0-2667-7802, 0-2667-7983
- ฝ่ายทะเบียนตัวแทนออกของ
หมายเลขโทรศัพท์ : 0-2667-7000 ต่อ 20-4634, 20-4636

ipv6 ready acheker
ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ของกรมศุลกากร การใช้งานข้อมูลใด ๆ บนเว็บไซต์ ให้ใช้ได้ตามที่เว็บไซต์จัดรูปแบบไว้ให้เท่านั้น
ลิขสิทธิ์ 2015 กรมศุลกากร สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนนวัตกรรมและวิเคราะห์ระบบ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลกากร