การนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในประเทศไทยออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ผ่านด่านพรมแดนทางบก


การนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในประเทศไทยออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ผ่านด่านพรมแดนทางบก

1.      หลักการ

          ผู้เดินทางหรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรโดยยานพาหนะส่วนบุคคลซึ่งได้จดทะเบียนในประเทศไทยผ่านด่านพรมแดนทางบก สามารถปฏิบัติพิธีการศุลกากรโดยการจัดทำใบขนสินค้าพิเศษเพื่อนำยานพาหนะดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ณ ที่ทำการของเจ้าหน้าที่ศุลกากรบริเวณด่านพรมแดนทางบก และจะต้องนำยานพาหนะนั้นกลับเข้ามาภายในระยะเวลาที่กำหนด*

(ยกเว้นรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่นำออกไปเพื่อการแข่งขัน ให้ปฏิบัติพิธีการโดยยื่นใบขนสินค้าขาออกและใบสุทธินำกลับตามปกติ)

2.      เอกสาร/หลักฐานประกอบการจัดทำใบขนสินค้าพิเศษ

2.1 ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ซึ่งออกโดยกรมการขนส่งทางบก กรณีผู้เดินทางมิได้เป็นเจ้าของรถ จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของรถที่แสดงเจตนาอนุญาตให้ผู้เดินทางนำยานพาหนะนั้นออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

2.2   หนังสือเดินทาง (Passport) หรือหนังสือผ่านแดน (Border Pass) ของผู้เดินทางที่ประสงค์จะนำยานพาหนะออกไปนอกราชอาณาจักร ที่ผ่านการประทับตราตรวจคนออกเมืองแล้ว

3.      ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการ

3.1   ผู้เดินทางนำยานพาหนะที่ประสงค์จะนำออกชั่วคราวพร้อมเอกสารตามข้อ 2. มาติดต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ด่านพรมแดนทางบก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ

3.2 เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ตรวจสอบแล้ว หากเห็นว่าครบถ้วนถูกต้องจะทำการบันทึกข้อมูลและออกใบขนสินค้าพิเศษสำหรับยานพาหนะที่นำออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว แล้วมอบ ให้ผู้เดินทางเก็บไว้เป็นหลักฐาน

3.3 ผู้เดินทางนำยานพาหนะที่ได้นำออกไปนั้น กลับเข้ามาในราชอาณาจักรภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยเมื่อผู้เดินทางเดินทางกลับมายังด่านพรมแดนทางบก (ไม่ว่าจะเป็นด่านพรมแดนเดียวกับที่ได้นำยานพาหนะออกไปหรือไม่ก็ตาม) ต้องนำยานพาหนะพร้อมใบขนสินค้าพิเศษที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้มอบไว้ให้ในข้อ 3.2 มอบแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรเพื่อตรวจสอบ

3.4 เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบแล้ว หากพบว่ายานพาหนะที่นำกลับมาถูกต้องตรงกับรายละเอียดในใบขนสินค้าพิเศษที่ได้จัดทำไว้ในข้อ 3.2 และไม่เกินระยะเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่ดำเนินการอนุญาตให้ยานพาหนะนั้นผ่านด่านพรมแดนเพื่อกลับเข้าราชอาณาจักร แต่หากพบว่านำกลับเข้ามาเกินระยะเวลาที่กำหนด จะทำการเปรียบเทียบปรับใบขนฯ ละ 1,000 บาท หรือดำเนินการทางกฎหมายหากพบว่ายานพานะที่นำกลับเข้ามาไม่ถูกต้องตรงตามใบขนสินค้าพิเศษที่ได้จัดทำไว้

*หมายเหตุ ระยะเวลาที่กำหนด ขึ้นอยู่กับความตกลงระหว่างประเทศที่จะกำหนดให้ผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศใดจะได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ในประเทศใดเป็นระยะเวลาเท่าใด

 


 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 20 มีนาคม 2563 10:40:18

ipv6 ready acheker
ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ของกรมศุลกากร การใช้งานข้อมูลใด ๆ บนเว็บไซต์ ให้ใช้ได้ตามที่เว็บไซต์จัดรูปแบบไว้ให้เท่านั้น
ลิขสิทธิ์ 2015 กรมศุลกากร สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนนวัตกรรมและวิเคราะห์ระบบ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลกากร